top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนBrr Sppw

เพราะแนวความคิดของคณะราษฎรเมื่อพ.ศ 2475ยังคงฝังรากลึกอยู่ทุกที่ แม้กระทั่ง...ในงานศิลปะของประเทศไทย

บ่อยครั้งที่งานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ยังต้องการที่จะเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยออกมาสู่สาธารณะ และศิลปะก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสื่อกลางที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อส่งผ่านข้อความที่อยากจะสื่อสารออกไป วันนี้เราเลยอยากพาย้อนไปดูงานนิทรรศการ ของ [คณะ]ราษฎร ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ2ปีที่แล้ว(พ.ศ 2561) เมื่อวันที่24 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคม ที่ Cartel Artspace



การปฏิวัติการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นส่งผลทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเกิดจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตนเองว่า คณะราษฎร เนื่องจากต้องการเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทัดเทียมกับอารยประเทศมากขึ้น และเพื่อความอยู่รอดของประเทศไทยเราในช่วงเวลาขณะนั้น โดยที่กลุ่มคณะราษฎรส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักเรียนนอก หรือ นักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป นี่คือข้อเท็จจริงที่เราสามารถอ่านเจอในหน้าหนังสือตำราเรียนแบบแผนทั่วไป แต่ขณะเดียวกันในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมานั้นก็ได้เกิดการตั้งข้อกล่าวหาขึ้นมามากมายที่พาดพิงถึงเหล่าคณะราษฏรในสมัยนั้น และถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นโต้แย้งกันในแวดวงการเมืองอยู่เสมอ บ้างก็ว่าความคิดของคนกลุ่มนี้เป็นเพียงความคิดที่ไม่เข้าพวก แปลกแยกซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสังคมตะวันตกมากจนเกินไป บ้างก็ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองและสังคมครั้งนั้นเป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจระหว่างกันและกันของคนชั้นบนในเมืองหลวงเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับรู้ และไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในครั้งนั้นแต่อย่างใด


ด้วยข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้เองทำให้ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์และนักวิชาการสายประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ อาจารย์กิตติมา จารีประสิทธิ์ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดความสนใจในกรณีศึกษานี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ประชาชนในช่วงเวลานั้นหลับหูหลับตาจำใจน้อมรับเอาระบบการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมาใช้โดยที่ไม่รู้ความหมาย และจุดมุ่งหมายของระบอบการปกครองรูปแบบใหม่นี้เลยด้วยซ้ำไป จึงเป็นเหตุผลให้เกิดงานนิทรรศการ ของ [คณะ]ราษฎร นี้ขึ้น ด้วยจุดประสงค์ของงานนิทรรศการที่ต้องการจะย้อนไปตอบคำถามข้างต้นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญครั้งนั้น เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำในเมืองหลวงโดยปราศจากการตอบสนองจากผู้คนในวงกว้างนั้นควรเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรจะนำขึ้นมาพิจารณากันใหม่อีกครั้งหนึ่ง






ในการศึกษาค้นคว้าของนิทรรศการครั้งนี้ได้ทำการรวบรวมเอาวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตในชีวิตประจำวันที่ถูกผลิตขึ้นในตลอดระยะเวลา15 ปีตั้งแต่พ.ศ. 2475-2490 ที่คณะราษฏรยังมีอำนาจในการปกครองประเทศอยู่ ซึ่งสามารถแบ่งได้ 4หมวดดังนี้ หมวดแรกคือวัตถุในชีวิตประจำวันที่สร้างขึ้นโดยรัฐ อาทิเช่น ฐานจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง โดยผู้ออกแบบคือ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประติมากรรมนูนต่ำ เจ้าแม่โมฬีซึ่งประดับอยู่ที่โรงภาพยนตร์ทหารบก เหรียญสร้างชาติซึ่งถูกผลิตขึ้นจำนวนมากในพ.ศ.2483 อีกทั้งยังได้มีการแจกจ่ายเข็มผู้แทนไปตามหมู่บ้านต่างๆหลังจากการเลือกตั้งที่มีขึ้นในท้องถิ่นเป็นครั้งแรก รวมไปถึงไปรษณียบัตร เป็นต้น หมวดที่สองคือ หมวดวัตถุที่ผลิตขึ้นโดยเอกชน ได้แก่ ประติมากรรมรูปพระยาพหลพลพยุหเสนา (จำลอง) โอ่งดินเผา ลายพานรัฐธรรมนูญ ในส่วนของหมวดที่สาม เป็นวัตถุสิ่งของที่สร้างใน ศาสนสถาน มีประติมากรรมชิ้นสำคัญได้แก่ หน้าบันศาลาการเปรียญ วัดตลิ่งชัน กรุงเทพฯ พนักพิงธรรมาสน์ วัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี ฝ้าเพดานพระอุโบสถ ลายพานรัฐธรรมนูญ วัดท่าคก รวมไปจนถึงเมรุจำลองวัดไตรมิตร และสุดท้ายหมวดที่สี่ หมวดหน้าปกสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคสมัยนั้นผ่านหนังสือคู่มือสมรส บันทึกเหตุการณ์ไทยเรียกร้องดินแดน พ.ศ.2483สมุดปกเหลืองเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรมฉบับพิมพ์ใหม่2491พระราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (สมุดปกขาว) ภาพพิมพ์ปกหนังสือ เมืองไทย:หนังสือภาพฉบับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ภาพพิมพ์ปกหุ้มสมุดบัญชีธนาคารออมสิน ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่างานศิลปะทุกชิ้นล้วนแต่ถูกผลิตหรือสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นที่มีการปฏิรูปการปกครองในปี2475 – 2490ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่ปรากฏภายในงานนิทรรศการล้วนมีการสอดแทรกระบบสัญลักษณ์เช่น รูปพานรัฐธรรมนูญ และ หลัก 6ประการของเหล่าคณะราษฎรเพื่อเข้าไปประชาสัมพันธ์นโยบายผ่านงานศิลปะเหล่านั้นด้วย





ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอันนำไปสู่ข้อสังเกตว่าในด้านของงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นมีรูปแบบงานศิลปะที่แตกต่างไปจากไทยประเพณีเดิม กล่าวคือ นิยมสร้างสรรค์งานที่เสมือนจริง(Realistic)มากขึ้น ร่างกายผู้หญิงเน้นความถูกต้องของกายวิภาค และแสงเงา ในงานศิลปะภายใต้การปกครองของคณะราษฎร ไม่นิยมให้เป็นภาพร่างกายอ้อนแอ้นอรชร แต่จะสร้างให้ผู้หญิงร่างกายแข็งแรง มีมัดกล้าม ส่วนผู้ชายนั้น อวัยวะทุกส่วนต้องสมบูรณ์ ไม่ผอมแห้ง บอบบาง อีกทั้งยังนิยมปั้นงานที่เป็นรูปของสามัญชนมากกว่าที่จะปั้นรูปเจ้านาย พระมหากษัตริย์ หรือ เทพเทวดาซึ่งรูปแบบงานเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากมาจากศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะประเทศที่นิยมการปกครองแบบ ฟาสซิสต์(fascist)ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่2 เช่นในเยอรมัน และอิตาลี ด้วยอุดมการณ์ และจุดประสงค์บางประการที่สอดคล้องกัน ประกอบกับการที่เหล่าคณะราษฎร์นั้นส่วนมากจบการศึกษาจากต่างประเทศ จึงไม่น่าแปลกที่งานศิลปกรรมในสังคมไทยขณะนั้นจะรับเอารูปแบบศิลปกรรมดังกล่าวมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางการเมืองไทยอยู่อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน ด้านสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางโครงสร้างให้เรียบง่ายขึ้น ลดทอนรายละเอียดซับซ้อนให้เหลือเพียงเส้นง่ายๆและนิยมสร้างด้วยคอนกรีต เสริมเหล็ก เทียบเคียงได้กับศิลปะในยุคArt Deco ตัวอย่างเช่น โรงหนังเฉลิมบุรี ตึกศาลอุทธรณ์ อาคารพาณิชย์ ถนนราชดำเนินกลาง เป็นต้น







ในระหว่างปี2475-2490นับว่าเป็นช่วงเวลา15ปีที่การส่งผ่าน ประชาสัมพันธ์ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประสบผลสำเร็จอย่างแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น ดังที่เราจะเห็นได้จากจำนวนวัตถุสิ่งของที่ถูกสร้างขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้นได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังถูกสร้างขึ้นโดยภาคเอกชนเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการเฉลิมฉลองให้กับการปกครองระบอบใหม่ และ ในเขตพื้นที่ศาสนา วัดต่างๆทั่วประเทศได้ปรากฏงานศิลปะรูปแบบต่างๆดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นอยู่จำนวนมาก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เองสามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าวัตถุสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์เหล่านี้ได้เข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจ และปลูกฝังค่านิยมในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงผ่านงานศิลปะบนวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนได้อย่างแยบยลถึงแม้ว่าเวลาที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ งาน ศิลปะคณะราษฎร[1]จำนวนมากจะถูกรื้อถอนไป อย่างอนุสรณ์สถาน และ อนุสาวรีย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างขึ้นเพื่อตอกย้ำความหมายของคำว่า‘ประชาธิปไตย’ แต่อย่างไรก็ตามมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงลักษณะ รูปแบบเดิมของศิลปะราษฎรก็ยังมีตกทอดและแพร่กระจายอยู่มากเป็นเงาตามตัวจนไม่สามารถตามรื้อถอนไหวอีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบการสร้างพระเมรุเผาศพแบบวัดไตรมิตร ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของเหล่าประชาชน นับว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ดีและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร และปัจจุบันนี้เราจะพบว่าแทบทุกวัดของประเทศไทยยังคงรับเอารูปแบบไปสร้าง กลายเป็นสถานที่ดำเนินพิธีกรรมของประชาชนทั่วไปมาจวบจนทุกวันนี้

[1]“ศิลปะคณะราษฎร 2475-2490” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ. สนพ.มติชน.2552.

ดังนั้นจึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า งานศิลปะคณะราษฎรไม่ว่าจะเป็นด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางสังคมไม่สามารถลบให้หายไปจากสังคมไทยได้ และคงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพ.ศ. 2475 ครั้งนั้นได้นำมาสู่การก่อตัวของสำนึกแบบใหม่ของมวลชนที่ตระหนักถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของตนเองโดยแท้จริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น




14 /07/2561 ถ่ายที่ห้องน้ำ ณ แกลอรี่ Cartel Artspace


ดู 23 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page